เมนูหลักที่ 4 : การปฏิบัติตนของพุทธศาสนิกชน
หลักจริยธรรม หรือศีลธรรม ทางพระพุทธศาสนามี ๓ ขั้น ๑. ขั้นมูลฐาน ๒. ขั้นกลาง ๓.ขั้นสูง
ก.จริยธรรมขั้นมูลฐาน เรียกว่า “ ศีล ๕ ธรรม ๕ “ หรือ เบญจศีล เบญจธรรม” ดังต่อไปนี้
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์หรือมนุษย์ เป็นศีล กรุณาต่อสัตว์หรือมนุษย์ เป็นธรรม
๒. เว้นจากการลัก ฉ้อ เป็นศีล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และประกอบอาชีพสุจริต เป็นธรรม
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นศีล สำรวมในกาม เป็นธรรม
๔. เว้นจากการพูดปด เป็นศีล พูดจริง เป็นธรรม
๕. เว้นจากการดื่มสุราเมรัย เป็นศีล มีสติสำรวมระวัง เป็นธรรม
ข. จริยธรรมชั้นกลาง เรียกว่า “ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ “ ดังต่อไปนี้ทางกาย ๓ ข้อ
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์หรือมนุษย์
๒. เว้นจากการลักทรัพย์
๓. เว้นการประพฤติผิดในกาม
ทางวาจา ๔ ข้อ
๑. เว้นจากการพูดปด
๒. เว้นจากการพูดยุยงให้แตกร้าวกัน
๓. เว้นจาการพูดหยาบ
๔. เว้นจากการพูดเหลวไหลเพ้อเจ้อ
ทางใจ ๓ ข้อ
๑. ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน
๒. ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น หรือคิดให้เขาพินาศ
๓. ไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม โดยมีความเห็นถูกต้องว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บิดามารดามีคุณ เป็นต้น
ค. จริยธรรมขั้นสูง เรียกว่า “อริยมรรค “ แปลว่า “ ทางอันประเสริฐ ” บ้าง เรียกว่า”มัชฌิมาปฏิปทา” แปลว่า “ข้อปฏิบัติทางสายกลาง “ บ้าง มี ๘ ประการ คือ
๑. ความเห็นชอบ คือมีปัญญาเห็นอริยสัจ ๔ ประการ
๒. ความดำริชอบ คือ ดำริในการออกจากกาม ในการไม่ปองร้าย ดำริในการไม่เบียดเบียน
๓. การเจรจาชอบ คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่ยุยงให้แตกร้าว ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
๔. การกระทำชอบ คือ ไม่ฆ่าสัตว์หรือมนุษย์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
๕. การเลี้ยงชีพชอบ คือ ไม่หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิดที่มีโทษ ประกอบอาชีพที่ชอบธรรม
๖. ความเพียรชอบ คือ เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำความดีเกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่
๗. การตั้งสติชอบ คือ ตั้งสติพิจารณาร่างกาย เวทนา หรือความรู้สึกสุขทุกข์ ตลอดจนไม่สุข ไม่ทุกข์ จิต และธรรม รวม ๔ ประการ ให้รู้เท่าทันเห็นทั้งความเกิด ความดับ
๘. การตั้งใจมั่นชอบ คือ การทำจิตใจให้สงบมีสมาธิอย่างแน่วแน่ ที่เรียกว่าได้ฌาน ๔
ความหมายหลายนัยของเบญจศีล
เบญจศีล หรือศีลห้า ท่านผู้รู้ได้ให้ความหมายไว้หลายนัย เช่น
มนุษยธรรม หมายถึง ธรรมของมนุษย์ คนที่เกิดมาไม่มีศีลกำกับ ก็เป็นมนุษย์ที่ไร้ความหมาย คุณค่าต่ำ ไม่แตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ
อารยธรรม หมายถึง ธรรมอันประเสริฐหรือธรรมของพระอริยเจ้า
มาตรฐานสังคม หมายถึงเครื่องชี้วัดของสังคมว่าจะสงบสุข หรือเดือดร้อน ให้ดูมาตรวัดคือเบญจศีล
สัญญาประชาคม หมายถึง ข้อกติกาที่สังคมต้องร่วมกันประพฤติ จึงจะเกิดสันติสุข
หลักประกันสังคม หมายถึง สังคมจะมั่นใจว่าอันตรายไม่เกิดถ้าได้อยู่ร่วมกันกับผู้รักษาศีลห้า สังคมจะหวาดวิตก เมื่อทราบว่าอยู่ท่ามกลางคนไร้ศีล
คนที่มีศีลห้าเป็นพื้นฐาน ชีวิตจะรับน้ำหนักได้มากเพราะฐานแข็งแรง โดยเฉพาะน้ำหนักในทางดี เมื่อเรารักษาศีล ศีลจะรักษาเรามิให้เสียหาย และศีลจะรักษาสังคมมิให้ล่มสลาย
องค์ประกอบของศีลห้าแต่ละข้อ
องค์ประกอบปาณาติบาต ๕ อย่าง
๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดจะฆ่า
๔. ปโยโค มีความเพียรที่จะฆ่า
๕. เตนมรนัง สัตว์นั้นตายลงด้วยความเพียรนั้น
องค์ประกอบอทินาทาน ๕ อย่าง
๑. ปรปริคคหิตัง วัตถุสิ่งของที่มีเจ้าของเก็บรักษาไว้
๒. ปรปริคคหิตสัญญิตา รู้ว่าวัตถุสิ่งนั้นมีเจ้าของเก็บรักษาไว้
๓. เถยยจิตตัง มีจิตคิดจะลัก
๔. ปโยโค ทำความเพียรที่จะลัก
๕. อวหาโร ได้สิ่งของนั้นมาด้วยความเพียรนั้น
องค์ประกอบกาเมสุมิจฉาจาร ๔ อย่าง
๑. อคมนิยวัตถุ วัตถุที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง
๒. ตัสมิง เสวนจิตตัง มีจิตคิดจะเสพในวัตถุนั้น
๓. ปโยโค มีความพยายามที่จะเสพ
๔. มัคเคนมัคคปฏิปตันติ- มีความพอใจในการประกอบมรรคซึ่งกันและกัน
อธิวาสัง
องค์ประกอบมุสาวาท ๔ อย่าง
๑. อวัตถวัตถุ สิ่งของหรือเรื่องราวที่ไม่จริงอย่างหนึ่ง
๒. วิสังวาทจิตตา มีจิตคิดมุสาอย่างหนึ่ง
๓. ปโยโค พยายามมุสาด้วยกายหรือด้วยวาจาตามความประสงค์ของตนอย่างหนึ่ง
๔. ตทัตถวิชานนัง ผู้อื่นมีความเชื่อตามเนื้อความที่มุสา
องค์ประกอบสุราเมรัย ๔ อย่าง
๑. สุราเมรยภาโว สิ่งที่เป็นสุราและเมรัย
๒. ปิวิตุกามตา มีความประสงค์จะดื่ม
๓. ปิวนัง ทำการดื่ม
๔. มัททวัง มีอาการมึนเมา
บทสรุปการละเมิดศีลห้า
๑. โหดร้าย ๒. มือไว ๓.ใจเร็ว ๔. ขี้ปด ๕.หมดสติ